Friday, 17 May 2024
สุรวัช อริยฐากูร

จับกระแส!! เดินเครื่องเศรษฐกิจไทย มองยังไงก็ไม่เห็นความชัดเจน หลังผู้ประกอบการแห่ 'ปิดกิจการ-เลิกจ้าง' โครงการใหญ่ก็ค้างเงียบ

ปรากฏการณ์การปรับ ครม. ของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เพื่อเดินเครื่องเศรษฐกิจประเทศไทย แต่งตั้ง ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ นำโดย รองนายกฯ นายพิชัย ชุณหวชิร ควบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล จาก เลขานุการ รมว.คลัง ขยับมาเป็น รมช.คลัง ทำให้กระทรวงการคลัง มีรัฐมนตรี 4 คน เต็มอัตราศึก พร้อมรบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ  
แต่จากนั้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากแบ่งงานภายในกระทรวง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง สะท้อนความไม่พอใจต่อ รมว.คลังใหม่ป้ายแดง ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล หลังจาก นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งยื่นใบลาออกเพียงสัปดาห์เดียว สะท้อนถึงการจัดวางทีมรัฐมนตรีของ นายกฯ เศรษฐา ที่เริ่มเห็นความขัดแย้ง รอยร้าว ของรัฐบาล เพิ่มมากขึ้น

เศรษฐกิจไทย ที่รัฐบาลหวังจะกระตุ้น จาก โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ก็ยังไม่อาจคาดหวังได้เต็มร้อย ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ก็แทบจะปรับตัวยกแผง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้น กองทุนน้ำมันเริ่มแบกไม่ไหว 

การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พร้อมข่าวการทยอยปิดกิจการของผู้ประกอบการ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา นำโดยกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม...

- 27 พฤศจิกายน 2566 บริษัท คิตากาว่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศปิดกิจการแบบถาวร
- 30 พฤศจิกายน 2566 บริษัท ทีเอ็มที โมลด์ เทคโนโลยี จำกัด ประกาศปิดกิจการ

- 28 ธันวาคม 2566 บริษัท โรงงานผลิตเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ประกาศเลิกจ้างพนักงาน
- 27 เมษายน 2567 วอยซ์ ทีวี (Voice TV) ประกาศยุติการออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป 

- 29 เมษายน 2567 บริษัทขายรถมือสอง สัญชาติอินเดีย CARs24 ประกาศปิดกิจการ 
- 30 เมษายน 2567 'อร่อยดี' แบรนด์ร้านอาหารไทยจานด่วน ในเครือ CRG โพสต์แจ้งปิดทุกสาขา 

- และ 1 พฤษภาคม 2567 ต้อนรับวันแรงงาน บริษัท วี.เอ็ม.ซี. เซฟตี้กลาส (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานย่านเทพารักษ์ ก็ปิดกิจการจากการขาดสภาพคล่อง

หากดูข้อมูลจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า ไตรมาสแรกปี 2567 มีโรงงานปิดกิจการพุ่งสูงถึง 367 แห่ง ส่งผลให้สูญเสียเงินลงทุนรวมกว่า 9,417.27 ล้านบาท และพนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 10,066 คน ...!!!

ข่าวคราวการเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนในประเทศ ก็เริ่มมีสัญญาณไม่ดี โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ อภิมหาโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท เส้นทางชุมพร-ระนอง ข่าวคราวของโครงการเงียบหายไปพักใหญ่แล้ว ... ความเคลื่อนไหวล่าสุดของโครงการนี้คือ การจัดโรดโชว์ ที่ประเทศจีน Thailand Landbridge Roadshow เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่กรุงปักกิ่งโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นับจากโรดโชว์ครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว จนถึงครั้งล่าสุดโครงการแลนด์บริดจ์ ‘มีแต่ผู้สนใจ’ แต่ยังไม่มีข่าวเลยว่า จะมีใครแสดงความต้องการที่จะ ‘เข้ามาลงทุน’ อย่างจริงจัง แม้แต่รายเดียว 

นายกฯ เดินสายบินพบผู้นำต่างประเทศ ทำสถิติ ใน 6 เดือน กว่า 16 ประเทศ และเตรียมเดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศส และอิตาลี ในช่วงระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2567 นี้ จากนั้นในวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2567 นายกฯ และคณะ จะเดินทางไปญี่ปุ่น ภาพการเจรจาการค้าของนายกฯ ที่ได้ฉายาจากสื่อ ว่า ‘เซลล์แมน’ ผลงานการดึงดูดนักลงทุน ก็ยังไม่มากเท่าที่ควร

ลุ้นกันต่อ ... ลุ้นว่า ประชาชน จะช่วยกันประครองสภาพการเงินของตนเอง ให้ผ่านพ้นปีนี้ไปให้ได้ ลุ้นว่า ผู้ประกอบการ SME รายเล็ก ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ยังคงมีเม็ดเงินจ้างแรงงาน ต่อไปได้ ... ลุ้นจริง ๆ   

‘สินค้าแพง - เศรษฐกิจไม่ขยับ’ ภาระหนักอึ้ง ‘ครม. เศรษฐา 2’

เรื่องวุ่น ๆ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังเคลียร์ไม่จบ ปัญหาเศรษฐกิจ ยังถาโถมมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องราคาสินค้า อุปโภคบริโภค ที่แทบจะปรับตัวยกแผง

ราคาผักสด ปรับราคาสูงขึ้นหลังสงกรานต์ รายงานข่าวจาก สวท.สงขลา แจ้งว่า ที่ตลาดทรัพย์สินพลาซ่า เขตเทศบาลนครสงขลา ผักหลายชนิดปรับราคา เช่น ถั่วฝักยาว จากกิโลกรัมละ 50 บาท เป็น 100 บาท ผักกาดหอม จากกิโลกรัมละ 60 บาท เป็น 100 บาท ผักชี จากกิโลกรัมละ 200 บาท เป็น 250 บาท ต้นหอม จากกิโลกรัมละ 90 บาท เป็น 120 บาท ผักบุ้งจีน จากกิโลกรัมละ 30 บาท เป็น 50 บาท มะนาว จากกิโลกรัมละ 120 บาท เป็น 150 บาท มะระ จากกิโลกรัมละ 40 บาท เป็น 60 บาท และ แตงกวา จากกิโลกรัมละ 25 บาท เป็น 40 บาท

เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกาศปรับราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ขึ้นราคาอีกแผงละ 6 บาท หรือฟองละ 20 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ส่งให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม อยู่ที่ฟองละ 3.60 บาท  

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ปรับราคาขึ้นอีกกิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งที่ 3 ในเดือนเมษายน จากก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 4 บาท ในวันที่ 17 มีนาคม 2567 และวันที่ 8 เมษายน 2567 รวมทั้งสิ้นเป็นการปรับขึ้น 12 บาทต่อกิโลกรัม 

ซึ่งก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปี ราคาขายปลีกเนื้อไก่ ก็มีการปรับขึ้นราคา ขาไก่ตัดเล็บ จากราคา กิโลกรัมละ 80 บาท ขึ้นมาเป็น กิโลกรัม ละ 110 บาท ปีกเต็ม จากราคากิโลกรัมละ 90 บาท ขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 100 บาท ปีกปลาย จากราคา กิโลกรัมละ 90 บาท ขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 125 บาท

กระทรวงพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่หลักในการดูแล และควบคุมสินค้า ได้กำหนดนโยบายสำคัญ ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เน้นการรดน้ำที่ราก ดูแลคนตัวเล็ก’ ยังไม่ค่อยมีข่าวคราวในโครงการช่วยเหลือคนตัวเล็กมาก เท่าใดนัก นอกจากข่าวการลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีอย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ของยุครัฐบาลก่อนหน้า  เรามักได้เห็น ได้ยิน ข้อความตามสื่อต่าง ๆ ว่า คนไทยจะอดตายกันหมดแล้ว” หรือ “ราคาสินค้าแพง รายได้น้อย ต้องการให้มีรัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย” 

ปัจจุบัน ในขณะที่ราคาสินค้าปรับขึ้นราคาสูงกว่าที่ผ่านมา เสียงก่นด่าเหล่านี้ กลับไม่ดังเหมือนแต่ก่อน 

พร้อมทั้งข่าว การแจ้งยุติกิจการ ของ วอยซ์ ทีวี (Voice TV) เลิกจ้างพนักงานกว่า 100 ชีวิต ที่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจ ในปี 2567 โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และการปรับ ครม.เศรษฐา 2 จะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้หรือไม่...รอติดตามกันต่อไป 

เรื่อง: The PALM

คุ้มค่าหรือ? ‘รัฐบาล’ ทุ่ม 5 แสนล้านดัน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ‘นโยบายประชานิยม’ จะพาเศรษฐกิจไทยฟื้นหรือดิ่งเหว

ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ กับการแถลงข่าวเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 มีการ ‘ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) ครั้งที่ 3/2567’ ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุม

ประเด็นที่น่าสนใจคงไม่พ้น ‘แหล่งที่มาของงบประมาณ’ ในโครงการ โดยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแหล่งเงินของโครงการฯ 500,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ได้แก่

1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว

2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568

3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ จึงมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการใดที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง ก็อาจนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ รวมวงเงินส่วนที่ 1-3 เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท

นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่นายกฯ เศรษฐา ได้เคยแถลงเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ยืนยันว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทำได้แน่นอน และไม่มีการกู้เงินมาแจก ในวันนี้ได้เห็นแหล่งที่มาของการใช้เงินแล้ว คงพอรับรู้ได้ว่า เป็นการ ‘กู้เงิน’ หรือไม่ ?

การเดินหน้าโครงการนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน ก็คงตัดสินกันในตอนนี้ไม่ได้ ถึงแม้นักวิชาการหลายท่าน รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เคยให้ความเห็นติติงกันมาพอควรมาแล้ว

ทีนี้ มาลองดูโครงการใหญ่ ๆ จาก 3 ประเทศ ในเอเชีย ที่ใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท ในช่วงนี้ มีเป้าหมายใช้งบประมาณในด้านใดบ้าง

เริ่มจาก ‘เกาหลีใต้’ ทุ่ม 2.5 แสนล้านเกาะกระแส AI หวังสร้างตำนานบทใหม่ สู่การเป็นมหาอำนาจเซมิคอนดักเตอร์ ประธานาธิบดี ยุน ซุก ยอล ของเกาหลีใต้ เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ว่ารัฐบาลจะลงทุน 9.4 ล้านล้านวอน (2.5 แสนล้านบาท) ในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 1.4 ล้านล้านวอน (3.8 หมื่นล้านบาท) สำหรับส่งเสริมบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ด้าน AI ภายในปี 2027 เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำระดับโลกในด้านชิปเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัย

โดยรัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนที่จะขยายการวิจัยและพัฒนาชิป AI เช่น หน่วยประมวลผลประสาทเทียม (NPU) และชิปหน่วยความจำแบนด์วิธสูงรุ่นต่อไป นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (AGI) และเทคโนโลยีความปลอดภัยแห่งอนาคตที่เหนือกว่ารุ่นที่มีอยู่ และตั้งเป้าที่จะทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในสามประเทศชั้นนำในด้านเทคโนโลยี AI รวมถึงชิป และครองส่วนแบ่งในตลาด system semiconductor ทั่วโลกให้ได้ 10% หรือมากกว่าภายในปี 2030

ถัดมา ‘เวียดนาม’ ทุ่มลงทุน 9.6 แสนล้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกฯเวียดนาม เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ว่า เวียดนามเตรียมจัดสรรเม็ดเงินลงทุนภาครัฐราว 657 ล้านล้านดอง (กว่า 9.6 แสนล้านบาท) ในปี 2567 โดยมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ พร้อมเน้นย้ำว่า เมื่อโครงการด้านการคมนาคมเริ่มดำเนินการแล้ว จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับองค์กรต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การบริการ และชุมชนเมือง

และอีก 1 ประเทศ ที่มีการลงทุนหลักแสนล้าน ‘มาเลเซีย’ ทุ่มเกือบ 3 แสนล้านขยายท่าเรือใหญ่สุดในประเทศ สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เวสต์พอร์ทส์ โฮลดิงส์ ผู้ให้บริการท่าเรือรายใหญ่สุดของมาเลเซียกำลังมองหานักลงทุนจากภายนอกเพื่อระดมเงินลงทุนขยายท่าเรือ 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 299,539 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของท่าเรือขยายเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือใหญ่อันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การขยับขยายท่าเรือจะเพิ่มศักยภาพเป็น 27 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต จากปัจจุบันอยู่ที่ 14 ล้าน ตลอดอายุสัมปทานซึ่งจะอยู่จนถึงปี 2082

การขยายท่าเรือเวสต์พอร์ทส์สะท้อนความพยายามในการขยายท่าเรือของประเทศเพื่อนบ้านตามแนวช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

การลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ดึงต่างชาติมาลงทุน เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของ 3 ประเทศข้างต้น เปรียบเทียบกับงบประมาณที่รัฐบาลไทย จะทุ่ม 500,000 ล้านบาท ตามนโยบายประชานิยมที่เคยหาเสียงไว้ คุ้มค่าหรือไม่? บางทีอาจเป็นคำถามที่ไม่ต้องการผลลัพธ์เพื่อตอบคำถามนี้ 

เรื่อง: The PALM

'6 เดือนรัฐบาล' กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นตามหวัง ซ้ำ!! 'เงินดิจิทัลวอลเล็ต' ยังกระทบงบประมาณ 67

'เศรษฐกิจไทย' ยังคงทรงตัว และไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่จะส่งผลดี กระตุ้นให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เพิ่มขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ สต็อกบ้าน คอนโด เหลือขายเป็นจำนวนมาก โครงการเปิดขายใหม่ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพิ่มขึ้น 10.80% แต่หน่วยขายได้ กลับลดลง -14.50% เตรียมเข็นมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จาก 1% เหลือ 0.01% โดยขยายสำหรับที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาท โดยให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรก เท่านั้น

ด้านพลังงาน มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม จะสิ้นสุด 31 มีนาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) คาดการว่า กองทุนน้ำมันฯ จะติดลบในระดับ 100,000 ล้านบาท จึงอาจไม่สามารถขยายเวลาในการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ 

หากจำเป็นต้องตรึงราคาดีเซลต่อ ต้องอาศัยกลไกจากกระทรวงการคลัง โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล มาช่วยตรึงราคาควบคู่กับกลไกกองทุนน้ำมัน 

ส่วนค่าไฟฟ้า มาตรการจะสิ้นสุด 30 เมษายน 2567 ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 มีแนวโน้มจะสามารถตรึงฐานค่าไฟได้ต่อ ถึงเดือนสิงหาคม 2567 

ด้านการท่องเที่ยว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เห็นชอบการเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนใน 'กิจการจัดงานมหกรรมดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ' ที่มีการลงทุนเกิน 100 ล้านบาทในไทย สามารถยื่นขอบีโอไอได้ ได้รับสิทธิ์เว้นอากรขาเข้า อุปกรณ์-เครื่องจักร พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานระดับโลก (World Class Events) และเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) 

มาตรการที่มีในปัจจุบัน ยังคงไม่ทำให้คะแนนนิยมทั้งของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีกระเตื้องขึ้น กับการที่บริหารประเทศมากว่า 6 เดือน ซึ่งจำเป็นต้องเข็นมาตรการเงินดิจิตอลวอลเล็ต เพื่อช่วยให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น 

โดยวันที่ 10 เม.ย. 67 จะมีการประชุมคณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยวาระสำคัญคือการเคาะแหล่งที่มาของเงินในโครงการนี้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 - 3 ทางเลือกระหว่างการใช้เงินกู้ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี หลังจากที่ได้ข้อสรุปเรื่องแหล่งเงิน และไทม์ไลน์ในโครงการนี้แล้ว โครงการจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยืนยันว่าโครงการนี้รัฐบาลจะเดินหน้าตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อให้สามารถแจกเงินได้ทันภายในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนเทศกาลปีใหม่ 2568

ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังคงไม่กระเตื้อง อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า แต่เมื่อการหาแหล่งเงินทุนในโครงการแจกเงินดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล อาจจะต้องไปใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีร่วมด้วย นั่นหมายความว่า งบประมาณประจำปี ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเบิกจ่ายตามกรอบงบประมาณ ของหน่วยงานต่าง ๆ ต้องถูกตัดไปใส่ในโครงการดิจิตอลวอลเล็ต เท่ากับว่า เม็ดเงินที่จะออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นไม่มากตามที่คาดการณ์ เพราะส่วนหนึ่งใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำ ที่จะต้องมีการเบิกจ่ายอยู่แล้ว 

หากเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องคิดเผื่อด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี ของแต่ละหน่วยงาน อาจจะต้องมีการเบิกจ่ายล่าช้าออกไปอีก เพราะทุกหน่วยงานต้องรอจัดสรรการใช้จ่ายในแต่ละโครงการอีกครั้ง ว่าโครงการใด ต้องชะลอเพื่อกันเงินไว้สำหรับโครงการดิจิตอลวอลเล็ต โครงการใดที่จะสามารถเบิกจ่ายได้จริง ส่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ยิ่งต้องล่าช้าออกไปอีก 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงนี้ แทบจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศเท่าใดนัก และกับการที่อาจต้องคาดการณ์ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 จะล่าช้าออกไปอีก ... ความกดดันที่ก่อตัวเพิ่มขึ้น กำลังถาโถมต่อรัฐบาล และทีมเศรษฐกิจ

ตอนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 สถานการณ์หนักพอควรแล้ว สถานการณ์ตอนนี้ ก็คงไม่ต่างกัน นโยบายที่ออกมาเพียงเพื่อหาเสียงเพื่อให้ได้เข้าไปนั่งในสภา ถึงเวลาที่ต้องทบทวนกฎกติกา หรือยัง ?

'รัฐบาล' ยังไงดี? เค้าลางวิกฤตส่อชัดกับ 'รายใหญ่-คนตัวเล็ก' ถ้าบางนโยบายคล้ายรัฐบาลก่อน 'ดี-ไปไหว' น่าเร่งผลักให้ไว

ข่าวคราวสำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 2-3 ประเด็น ที่น่าจะเริ่มเห็นภาพแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 ของประเทศไทย ที่มีความน่ากังวลพอสมควร 

เรื่องที่ 1 บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ยักษ์ใหญ่ ของไทย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เริ่มจากประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขยายอายุวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ จำนวน 5 รุ่น ขยายออกไปอีก 2 ปี พร้อมข้อเสนอเพิ่มดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ ตามมาด้วยหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณี การจ่ายเงินเดือนพนักงานที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งบริษัทฯ ยังขาดสภาพคล่องทางการเงิน 

เรื่องที่ 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน สื่อสารไปยังธนาคารต่างๆ ให้กำหนดแนวทางการแก้ไขหนี้ ทั้งก่อนเป็นหนี้เสีย และหลังเป็นหนี้เสีย พร้อมทั้งสื่อสารช่องทาง Social ต่างๆ ให้ลูกหนี้ ได้รับทราบข้อมูล มีทางเลือกในการ ปิดจบหนี้เรื้อรัง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ผ่านทั้งมาตรการเดิมและเพิ่มเติมมาตรการใหม่ ให้ครอบคลุมไปถึงการแก้หนี้เรื้อรัง และการคิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น ธปท.คงเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่าง จึงต้องรีบออกมาตรการมาป้องกันการเกิดหนี้เสีย 

2 เรื่องนี้ น่าจะทำให้คาดการณ์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 น่าจะหนักหนาพอสมควร จากเรื่องที่ 1 ตั้งแต่ปี 2566 เริ่มมีข่าวคราวบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีสัญญาณประชุมผู้ถือหุ้น ขอขยายวันครบกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้มาเรื่อยๆ แน่นอนว่า บริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเสมือนกลุ่มเศรษฐกิจส่วนยอดพีระมิด ที่น่าจะเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งทางการเงิน ส่งผลกระทบไปยังกลุ่มแรงงานที่ขาดรายได้ จากการถูกเลื่อนจ่ายเงินเดือน

สำหรับเรื่องที่ 2 ก็คงจะเป็นกลุ่มใหญ่ ในส่วนฐานของพีระมิด มีแผลเกิดขึ้น และเรื้อรังเป็นจำนวนมาก สัดส่วนหนี้สินต่อครัวเรือน ขยับสูงขึ้น อัตราแนวโน้มการขาดส่งชำระหนี้รายย่อย ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง สอดคล้องกับสินเชื่อกลุ่มบ้านสำหรับรายย่อย สินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อรถยนต์ ที่มีสัญญาณปฏิเสธการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจ เริ่มมีบาดแผลขึ้นหลายจุด ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเองกลับไม่มีข่าวคราวในการออกนโยบาย หรือมาตรการมารักษาบาดแผล หรืออย่างน้อย ก็กันไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านี้ 

ทว่า ข่าวคราวส่วนใหญ่ตอนนี้ ยังคงเป็นการเดินทางไปพบปะผู้นำยังต่างประเทศ ของนายกรัฐมนตรี จนมีสื่อนำเสนอว่าดำรงตำแหน่ง 6 เดือน เดินทาง 16 ประเทศ ซึ่งมีการชี้แจงว่า เพื่อเป็นการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศ ให้มาลงทุน หรือเข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ทั้งที่ รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงิน เดือนมกราคม 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า การส่งออกปรับดีขึ้น การบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น... 

ถ้าจะมีข่าวดีที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจบ้าง คงเป็นเรื่องที่ 3 ราคาทองคำ พุ่ง ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของทองคำในประเทศ ทำออลไทม์ไฮต่อเนื่องไม่หยุด ส่งผลให้สถานะการคลังของประเทศไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ เพราะมีทองตุนไว้ มากกว่า 244 ตัน เพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการตุนทองคำสำรองไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีการซื้อทองคำเพิ่มจำนวนมาก จนติดอันดับ 9 ของเอเชีย

ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คงถึงเวลาที่ต้องเริ่มสำแดงฝีมือ..? จะอาศัยสถานะทุนสำรองของประเทศที่มีมาก่อนเพียงอย่างเดียว คงไม่น่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ งบประมาณการเบิกจ่ายของภาครัฐ มาตรการต่างๆ ที่จะต้องงัดออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเร่งคลอดออกมา

คงไม่เป็นไร ถ้าบางมาตรการ จะคล้ายๆ กับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ถ้าสุดท้าย สามารถผลักดันเศรษฐกิจไทย ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง

เมื่อรัฐเล็งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในวันที่เอกชนกำลังรัน ‘เศรษฐกิจไทย’ สะท้อน!! ภาพนโยบายครั้งใหญ่ กระตุ้น ศก.ไทยได้จริงหรือ?

ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าวรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2567 โดยเศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง

ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะหมวดอาหารสดจากราคาผักและผลไม้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น หมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อน 

ด้านตลาดแรงงานปรับแย่ลง การจ้างงานในภาคการผลิตโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกยังคงลดลง และเริ่มเห็นการลดลงของการจ้างงานในภาคบริการบางสาขา 

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลการค้าเป็นสำคัญ แม้ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากพิจารณาภาพรวมแล้ว สภาพเศรษฐกิจไทย ยังถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนใหญ่ที่ขยายตัวได้เล็กน้อย เกิดจากภาคเอกชน ที่มีการลงทุนสอดรับกับภาคการท่องเที่ยว ที่ประเทศไทย ยังถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาพักผ่อน โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวระยะยาวเพิ่มขึ้น

แต่ในส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังหดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า และจากรายจ่ายประจำที่หดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าปีก่อนสำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและพลังงาน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพเศรษฐกิจไทย ยังคงต้องพึ่งภาคเอกชนเป็นหลัก เนื่องจากมาตรการภาครัฐเอง ยังคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ ไม่ว่าจะข่าวคราวโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 10,000 บาท ที่มีการแถลงข่าวจาก ฝั่งรัฐบาล ถึงการ 'เลื่อน' จากที่จะเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ จะดำเนินการในเดือนเมษายน และ เลื่อนอีกครั้งว่าน่าดำเนินการในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ แทบจะไม่มี 

อาจจะเห็นภาพในการช่วยเหลือประชาชนที่ค่อนข้างชัดเจนเพียงบางกระทรวง ในส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่าย โดยควบคุมราคาพลังงาน, ทั้งไฟฟ้า, น้ำมัน, ลดค่าครองชีพ ให้มีเงินเหลือเพื่อส่งเสริมการอุปโภค บริโภค ของประชาชนส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

เมื่อกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เกิดจากภาคเอกชนเป็นหลัก กลับมีข่าวการเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ออกมา ว่ารัฐบาลจะประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งแน่นอนว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ย่อมจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของกลุ่มแรงงานได้มากขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน ว่าพื้นที่ใดสามารถดำเนินการได้ พื้นที่ใดที่น่าจะได้รับผลกระทบ เพราะกลไกสำคัญคือ ผู้ประกอบการ SME ขนาดเล็ก ที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวหลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งใช้แรงงานคนเป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ ก็จะมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ประกอบกับต้นทุนทางการเงินในด้านดอกเบี้ยของผู้ประกอบการก็ยังคงอยู่ในระดับสูง 

ถ้าไม่เป็นเพราะเหตุ ‘การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ส่อเค้าว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ จึงต้องนำนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้มาลดกระแส แรงกระเพื่อมจากประชาชนต่อรัฐบาล ก็คงดี และหวังว่าคงเกิดจากคณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ จากเหตุที่เศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวได้จริง ๆ 

ส่องผลสำรวจคนไทยกับสภาพการเงิน ‘คนอีสาน’ สาหัส!! การเงินเข้าขั้นวิกฤต

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

เรื่องที่ 1 จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 

เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 

เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ

เรื่องแรก จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย ระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 50 เงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต คือ คนไทยเกือบ 27 ล้านคน หรือ ร้อยละ 50.5 การเงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต ขณะที่ ร้อยละ 49.5 ไม่อยู่ในขั้นวิกฤต

เมื่อแบ่งออกจากภูมิภาค พบว่า คนในภาคอีสานส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.9 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤตมากที่สุด รองลงมาคือ คนในภาคใต้ ร้อยละ 66.3 คนในภาคกลางร้อยละ 47.2 คนในภาคเหนือร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.8 การเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤต

เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า สำรวจระดับความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋า รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,020 ราย ระหว่างวันที่ 2-6 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 23.9 รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึง มากที่สุด โดยกลุ่มอาชีพที่รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึงมากที่สุด เป็นอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน (ไม่นับกลุ่มว่างงาน) รวมทั้ง รู้สึกไม่มั่นคงในการงานและรายได้ ร้อยละ 35.4

เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,056 ราย ระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 86.1 ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา คือร้อยละ 78.1 ซื้อหวยไทย ใต้ดิน แน่นอนว่า คนเล่นหวย มีความหวังจากการจะถูกหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งหวยไทย ใต้ดิน หวยอื่น ๆ โดยมีตัวกระตุ้นเป็นเงินรางวัล 

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงประสบการณ์เล่นหวย ระหว่างถูกหวย หรือ ถูกกิน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.1 ระบุถูกกิน และมีเพียงร้อยละ 11.9 เท่านั้น ที่ระบุถูกหวย

จากทั้ง 3 เรื่อง สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น และรายจ่าย ที่ใช้ในการ 'ซื้อความหวัง' เพื่อลุ้นให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

และพื้นที่ภาคอีสาน จากผลสำรวจที่บ่งชี้ว่า ‘สุขภาพทางการเงิน’ เข้าขั้นวิกฤติ จากพื้นที่ที่มีการประกอบเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว นโยบายของรัฐบาล จึงมุ่งไปหว่านการช่วยเหลือทางภาคอีสานค่อนข้างมาก และอย่างที่ทราบกัน ว่าพื้นที่ภาคอีสาน ฐานเสียงส่วนใหญ่ เป็นของพรรคการเมืองใด แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กว่า 20 ปี ในช่วงไหน ที่นโยบายรัฐ เน้นสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หรือ นโยบายอะไร ที่เป็นเพียงแค่ให้ได้รับคะแนนเสียง เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล

นโยบายที่เน้นแจก แต่ไม่สร้างความยั่งยืน ประชาชนเองต้องตอบคำถามเหล่านี้ ว่าเราจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ตัวเองอย่างไร? มุ่งทำงานเก็บเงิน พัฒนาการประกอบอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอ หรือ รอคอยความหวังจากนโยบายรัฐ ภาพหาเสียงที่เน้นเพิ่มเงินในกระเป๋า จากการแจก ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา คุ้มค่าที่รอ หรือยัง?

‘แบงก์พาณิชย์’ เข้ม!! ปล่อยสินเชื่อ ‘กลุ่ม SME’ สัญญาณอันตราย!! ขวางเศรษฐกิจไทยเติบโต

ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการ ประจำปี 2566 ออกมา ว่ามีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 แต่หากพิจารณาจากงบการเงินจะพบอีกประเด็นที่ยังมีความ ‘น่ากังวล’ คือ การตั้งสำรองหนี้เสีย

ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อแผนธุรกิจ ทิศทางในปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนธุรกิจของแต่ละธนาคาร เริ่มประกาศออกมา กำหนดเป้าหมายเติบโตของสินเชื่อ ที่ 3-5% กำหนดนโยบายให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาระดับเงินทุน และคงอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ไม่ต่างจากปี 2566 อยู่ระหว่าง 3.5-3.9% 

แน่นอนว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ย่อมหนีไม่พ้นจากงบประมาณที่ใช้ในการลงทุน จากภาคเอกชน ที่เป็นกลไกหลักให้ GDP ขยายตัวสูงขึ้น

หากภาคเอกชน จะต้องขยายงาน ขยายการลงทุน แหล่งเงินทุนคงไม่พ้นการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร แน่นอนว่า หลังผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ธุรกิจขนาดใหญ่ ย่อมฟื้นตัวได้เร็วกว่า มีโอกาสที่จะเริ่มทยอยลงทุน ขยายธุรกิจ สอดคล้องกับ นโยบายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดสัดส่วนการเติบโตสินเชื่อ ในกลุ่มระดับ Corporate มากกว่า กลุ่มธุรกิจ SME

แต่หัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ละเลยไม่ได้ คือ กลุ่มธุรกิจ SME หรือ ‘Start Up’ เป็นกลุ่มคนตัวเล็ก ที่สร้างงานในท้องถิ่น การจ้างแรงงาน สร้างการอุปโภคบริโภค หาก SME กลุ่มนี้ ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ย่อมกระทบต่อเนื่องกันเป็นวงกว้าง สิ่งที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือ ว่า จะเร่งการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมเป็นไปไม่ได้  

และจากข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังพบว่า มีสัญญาณการปฏิเสธสินเชื่อบ้านทะลุ 70% ในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในกลุ่มสินเชื่อบ้าน เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งที่ต้องกังวล ที่จะกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก กระทบผู้รับเหมา การจ้างแรงงาน และที่สำคัญ เป็นสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน แบงก์ยังคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ แล้วกลุ่มธุรกิจ SME ไม่มีหลักประกัน แต่จำเป็นที่ต้องมีทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสภาพคล่องนั้น ธุรกิจเหล่านี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร

รวมถึงแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการส่งผ่านเม็ดเงินสู่ผู้ประกอบการรายย่อย แน่นอนว่าย่อมต้องเข้มงวดในการให้สินเชื่อเช่นเดียวกัน หากรัฐบาลไม่มีการ Subsidize ให้แบงก์รัฐ หรือขยายมาตรการ Soft loan กลุ่ม SME น่าจะมีการปิดตัวลงอีกเป็นจำนวนมาก  

แรงปะทะระหว่างแบงก์ชาติ กับรัฐบาล ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังอยู่ในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อที่ยังติดลบต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจ SME ที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ในภาวะที่ต้องเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ  

ต่อจากนี้ รอดูว่า รัฐบาลจะเข็นมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ที่ต้องมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาว เพราะหากเพียงแค่นโยบายที่กระตุ้นเพียงช่วงสั้นๆ ปัญหานี้ย่อมแก้ได้ไม่จบ

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ สวยหรู!! แรงกระเพื่อมสั่น ‘รัฐบาล’ สะเทือน ‘ผู้ว่าธปท.’

ต้อนรับปีมังกร 9 ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการออกมา มีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 

9 ธนาคารพาณิชย์ มีผลประกอบการดีทุกธนาคาร ไล่จาก ‘SCB’ ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมา เป็น ‘KBANK’ และอันดับที่ 3 ‘BBL’ และ มีถึง 3 ธนาคาร ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นำโดย BBL, KTB และ TTB ซึ่งหากดูกำไรสุทธิโดยรวมทั้ง 9 ธนาคาร สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 226,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192,578 ล้านบาท 

รวมทั้งธนาคารขนาดกลาง ‘TISCO’ ปีนี้มีกำไรขึ้นมาอยู่ที่ 7,302 ล้านบาท เป็นผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

กำไรกลุ่ม ‘ธนาคาร’ เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก หลังมีการหยิบยกประเด็น ‘กำไร’ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ ‘NIM’ ว่า สูงเกินไปหรือไม่? โดยที่ประชาชนเป็นเสมือนผู้รับ ‘ภาระดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เติบโตสูงสุดในปีนี้ 

หากมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้หลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘รายได้ดอกเบี้ย’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการปีนี้อย่างมาก

ในปี 2566 มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 5 ครั้ง จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งหมด 6 ครั้ง เพิ่มจาก 1.25% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.50% หรือปรับสูงขึ้นเท่าตัว

อีกด้านของงบการเงิน ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงที่สุด คือ KBANK ตั้งสำรองสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52% หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับปีก่อนหน้า, BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 33.64%, TTB เพิ่มขึ้น 21% ส่งผลให้สำรองโดยรวมทั้ง 9 แบงก์ เพิ่มมาอยู่ที่ 229,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03% จากปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 193,104 ล้านบาท 

ในส่วน ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ‘NPL’ พบว่า โดยรวมปรับลดลง มาอยู่ที่ 498,720 ล้านบาท ลดลง 0.13% จาก 499,358 ล้านบาท แต่บางธนาคาร หนี้เสียยังปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจตกชั้นในระยะข้างหน้า เช่น SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ 1.58%, KBANK 1.84%, BAY เพิ่มขึ้น 14.2%, TISCO เพิ่มขึ้น 14.2%, LHFG เพิ่มขึ้น 20% และ CIMBT เพิ่มขึ้นเกือบ 6%

ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

และวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย และระบุว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มกราคม 2567 ถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 ได้มีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

และคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า แรงกระเพื่อมนี้ จะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ในภาวะที่โครงการ Digital Wallet ที่ก็ยังคงไม่สามารถหาจุดลงตัวในการดำเนินการได้

เรื่อง : The PALM

งบประมาณ 3.48 ลลบ. ใต้ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ กับภารกิจกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีมังกร 

ต้อนรับศักราชใหม่ ปี 2567 เริ่มต้นปี กับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะผลักดันในเศรษฐกิจไทยใน ‘ปีมังกร’ ที่น่าจะได้เห็นฝีมือทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่รับบทบาท เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีก 1 ตำแหน่ง ว่าจะมีศักยภาพในการจัดการเศรษฐกิจของไทย หลังผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ทั้ง วิกฤติ Covid-19 ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนมาถึงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ จะมีประสิทธิภาพมากน้อย เพียงใด

การลงมติร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระรับหลักการ มีผู้เห็นด้วย 311 เสียงไม่เห็นด้วย 177 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียงนั้น ก็เป็นไปตามคาดการณ์ ที่จะต้องรับร่างงบประมาณ เพื่อผลักดันการใช้จ่ายเงินตามโครงการต่าง ๆ ของแต่ละกระทรวงอย่างเร่งด่วน เนื่องจาก การทำงบประมาณปี 2567 ล่าช้าจากเหตุกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน กว่าจะได้เบิกจ่ายเงินงบประมาณ ก็คงเริ่มเบิกจ่ายได้ เมษายน - พฤษภาคม 2567 ถือว่าล่าช้าไปกว่าครึ่งปี

มาดูกันต่อกับวงเงินงบประมาณ ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง…

ปี 2567 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.480 ล้านล้านบาท : รัฐบาล เศรษฐา

ปี 2566 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.185 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2565 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.100 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2564 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.285 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ปี 2563 วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3.200 ล้านล้านบาท : รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

กลับกลายเป็นว่า วงเงินงบประมาณ 2567 ถือเป็นประวัติการณ์กับวงเงินที่สูงถึง 3.480 ล้านล้านบาท เป็นวงเงินงบประมาณที่มากที่สุดเท่าที่รัฐบาลที่ผ่านมาเคยได้จัดทำ และยังมีอัตราส่วนที่สูงขึ้นกว่าปีงบประมาณที่แล้ว กว่า 9.3% และถือว่าเป็นการเพิ่มวงเงินในสัดส่วนที่มากที่สุดในรอบ 5 ปี อีกด้วย 

อีกประเด็นที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ของ พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกพิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า ได้ตั้งงบกลางสูงมากเกินไป เพราะงบกลาง จะไม่มีรายละเอียดในการใช้งบประมาณ มีเพียงหัวข้อ และวงเงินของแต่ละโครงการ แต่เมื่อดูงบกลางของรัฐบาล เศรษฐา จะพบว่า วงเงินงบกลางกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.8% โดยตั้งงบกลางไว้ที่ 6.06 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16,295 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2566

ปี 2567 วงเงินงบกลาง 6.067 แสนล้านบาท 

ปี 2566 วงเงินงบกลาง 5.904 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 3,000 ล้านบาท

ปี 2565 วงเงินงบกลาง 5.874 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 16,362 ล้านบาท

ปี 2564 วงเงินงบกลาง 6.146 แสนล้านบาท งบค่าใช้จ่ายบรรเทา เยียวยาโควิด 40,326 ล้านบาท

ปี 2563 วงเงินงบกลาง 5.187 แสนล้านบาท 

และหากพิจารณาในหัวข้อรายการใช้จ่ายงบกลาง 5 ปี ย้อนหลัง (ปี 2563-2567) ก็พบว่า งบกลางที่มีการตั้งวงเงินที่สูงที่สุด ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการตั้งงบกลาง ในปี 2564 อยู่ที่ 6.146 แสนล้านบาท แต่สาเหตุที่ตั้งงบกลางไว้สูง เนื่องจาก มีหัวข้อค่าใช้จ่ายในการบรรเทา เยียวยา ผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 40,326 ล้านบาท หากไม่นับหัวข้อนี้มารวมในงบกลาง วงเงินงบกลางจะอยู่ที่ 5.74 แสนล้านบาท ซึ่งงบกลาง ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไม่มีหัวข้อค่าใช้จ่ายด้านนี้ 

คงเริ่มเห็นภาพบางอย่าง ในยุคที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ที่บริหารจัดการโดย ‘นักการเมือง’ และภาพที่คนบางกลุ่มชอบเรียกว่า ‘รัฐบาลประชาธิปไตย’ กับเม็ดเงินงบประมาณ ที่จะใช้ในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้ ของประชาชนคนไทย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top